วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

        "คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมเราจะเห็นว่าคนไทยมีการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในช่วงสำคัญของชีวิต เช่น รับขวัญเด็ก ทำขวัญนาค พิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับคนสำคัญ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับขวัญอยู่เป็นเนืองนิจ"


            พิธีบายศรีสู่ขวัญ ยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมาอย่างไร ผู้ที่ทำขวัญหรือที่เรียกว่าหมอขวัญ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเริ่มมีการทำขวัญตั้งแต่เมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยความเชื่อของคนไทยเชื่อกันว่าบรรดาคนทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีธรรมชาติอย่างหนึ่งเรียกกันว่า “ขวัญ” จะมีประจำกายของทุกคน มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษา ขวัญเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลประคับประคองชีวิต ติดตามเจ้าของไปทุกหนทุกแห่ง



            คำว่า "ขวัญ" เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างหน้าตาปรากฏให้เห็น ไม่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ แต่จะสังเกตได้ด้วยความรู้สึก ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับตัวผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจเป็นปรกติ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหายผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม พิธีบายศรีสู่ขวัญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้ คนไทยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเพิ่มพลังใจให้เข้มแข็ง เมื่อมีขวัญที่มั่นคงพลังใจที่เข้มแข็งดีแล้ว ย่อมส่งผลให้การประกอบภาระกิจหน้าที่นั้น ๆ บรรลุผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย

            คำว่า "บายศรี" แปลว่าข้าวที่เป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต

         บายศรี จะเย็บด้วยใบตอง ทำเป็น 3 ชั้น มีข้าว สิ่งของที่สำคัญอื่นๆ อีกประกอบด้วย ดอกบัว เทียนชัย น้ำมะพร้าวอ่อน แว่นเทียน 3 อัน เทียน 9 เล่ม ด้ายสายสิญจน์ บายศรี ในที่นี้ก็คือ สังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต้องยึดมั่นด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ บายศรี 3 ชั้น หมายถึง
    1. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต
    2. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต
    3. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต
          ดอกบัว หมายถึง บัว 4 เหล่า แต่ในที่นี้หมายถึงบัวประเภทที่ 4 ที่พ้นจากผิวน้ำจะชูก้านและดอกพร้อมที่จะขยายกลีบบานเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงในวันรุ่งขึ้น
           เทียนชัย หมายถึง แสงสว่างทางปัญญา
           น้ำมะพร้าวอ่อน หมายถึง น้ำใจบริสุทธิ์
           แว่นเทียน 3 อัน หมายถึง ภพทั้ง 3 ได้แก่ กายภพ รูปภพ และอรูปภพ
           เทียน 9 เล่ม หมายถึง ไฟ 3 กอง คือ
    1. ไฟ คือ ราคะ
    2. ไฟ คือ โทสะ
    3. ไฟ คือ โมหะ
           (เทียนที่ติดไว้กับแว่นเทียนอันละ 3 เล่ม)
           ด้ายสายสิญจน์ หมายถึง ห่วงแห่งความผูกพัน


สรุปว่า : ขวัญเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณ ขวัญเป็นสิ่งที่มีอยู่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น คนที่ตายไปแล้วจะไม่มีการกล่าวเรียกขวัญ การประกอบพิธีทำขวัญ ก็เพื่อให้เกิดความสุขสบาย เกิดสิริมงคลและสามารถอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างเป็นสุข


อ้างอิงจาก : http://www.thaifolk.com/doc/bysri.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น